ยินดีต้อนรับเข้าสู่เว็บไซต์ เทศบาลตำบลครึ่ง จังหวัดเชียงราย  โทรศัพท์ : 053-783-328  โทรสาร : 053-783-329 คำขวัญ พระธาตุมากมีล้ำเลิศ  ถิ่นกำเนิด ว.วชิรเมธี พระพุทธรูปโบราณมีมากหลาย ผลิตภัณฑ์หวายลือชื่อ ผ้าทอมือสวยงาม บ่อน้ำซับกว้างใหญ่ประชาใฝ่คุณธรรม

แจ้งเรื่องร้องเรียนสายผู้บริหาร

ภารกิจผู้บริหาร

ปลัด

ถังเงินถังทอง




facebook

ศูนย์ข้อมูลข่าวสาร



ระบบจัดการเว็บไซต์

ช่องทางร้องเรียน

ศูนย์ดำรงธรรม



กกต





สถิติการเข้าชม เริ่มวันที่ 04/01/2564
วันนี้
75
เมื่อวานนี้
372
เดือนนี้
4,564
เดือนที่แล้ว
6,178
ปีนี้
42,154
ปีที่แล้ว
32,770
ทั้งหมด
91,938
ไอพี ของคุณ
3.214.184.223

ป่าชุมน้ำบ้านม่วงชุม

     บ้านม่วงชุมเป็นหมู่บ้านหนึ่งในตำบลครึ่ง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย บริเวณที่ตั้งบ้านม่วงชุมในอดีตอยู่ติดแม่น้ำอิง ต่อมาเกิดน้ำท่วมใหญ่ จึงได้อพยพมาอยู่ในที่ดอนติดกับดอยยาว ซึ่งเป็นป่าดงรกทึบ มีต้นไม้ขึ้นมากมาย รวมทั้งต้นมะม่วงป่าหลายชนิด เช่น มะม่วงฝ้าย มะม่วงจี้หี้ด มะม่วงไข่ มะม่วงแก้มแดงขึ้นอยู่เป็นกลุ่มตาม บริเวณวัดและริมห้วยเป็นจำนวนมาก เลยได้ชื่อว่า “บ้านม่วงชุม”
วิถีชีวิตของคนม่วงชุมมีความผูกพันกับทรัพยากรธรรมชาติ ทำนาปลูกข้าว ควบคู่ไปกับการหาปลาในแม่น้ำอิง และหนองน้ำต่างๆ หาอาหาร ล่าสัตว์ หาของป่า เก็บผักในป่ามาทำเป็นอาหาร ปลาที่หามาได้แบ่งปันกัน ที่เหลือแปรรูปไว้กิน พ่ออุ้ย แม่อุ้ยเล่าให้ฟังถึงชีวิตในอดีตว่า การทำมาหากินในอดีตทำนา ปลูกข้าวไร่แบบพออยู่ พอกิน ปูปลามีมากมายในหนองและในน้ำอิง ไม่มีการใช้แน่งเหมือนปัจจุบันใช้แต่แห หิง สุ่ม แซะ จ๋ำก็ได้มามาพอกิน มีการช่วยเหลือพึ่งพากัน ที่สำคัญไม่มีหนี้สิน แสดงให้เห็นถึงการดำเนินชีวิตแบบพอเพียง ปัจจุบันถึงแม้ว่าวิถีการผลิตจะเปลี่ยนแปลงไปตามกระแสของระบบทุนนิยม แต่ความผูกพันกับทรัพยากรธรรมชาติยังคงเป็นวิถีของชุมชนที่ต้องมีการพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติในการหาอยู่หากินชั่วลูกชั่วหลาน
จากสภาพของภูมิประเทศที่มีความหลากหลายทางระบบนิเวศที่มีแม่น้ำอิง หนองน้ำ และป่าริมน้ำประกอบกับระยะห่างของแม่น้ำอิงที่บ้านม่วงชุมถึงปากแม่น้ำโขง เพียง 23 กิโลเมตร ในฤดูน้ำหลากช่วงเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคมน้ำโขงจะหนุนแม่น้ำอิง ประกอบกับน้ำอิงที่ไหลหลากจากฝนตก ทำให้เกิดน้ำท่วมหลากในป่าที่อยู่ริมน้ำอิง ปลาจากแม่น้ำโขงจะเข้ามาวางไข่ และหาอาหารในแม่น้ำอิง และหนองน้ำเพราะแม่น้ำอิงจะมีอุณหภูมิที่อุ่นเหมาะสมในการวางไข่มากกว่าแม่น้ำโขงที่มีความเย็นกว่าเพราะเป็นน้ำที่ไหลมาจากเทือกเขาหิมาลัยในประเทศจีน ป่าริมน้ำจึงเป็นบริเวณที่เหมาะสมสำหรับปลาในการวางไข่ตามโพรงของต้นไม้ กอหญ้า ขอนไม้ที่จมในน้ำ ปลาบางชนิดจะวางไข่ปล่อยตามพงหญ้า เช่น ปลาค้าว ปลาบางชนิดจะทำที่วางไข่ และเลี้ยงลูกเช่น ปลาช่อน ในบริเวณป่าริมน้ำที่ถูกน้ำท่วมจะเป็นแหล่งอาหาร และแหล่งวางไข่ที่สำคัญของปลา มีพืชอาหารปลาที่มีความพิเศษที่อยู่ในน้ำท่วม และช่วงน้ำลดได้ เช่น เครือหนอดน้ำ ใบสา ต้นอ้อ ต้นแขม ต้นแหย่ง ต้นไคร้ มะเดื่อ ฯลฯ ปลากินพืช เช่น ปลาตะเพียนจะกินใบของ ต้นไม้ หรือผลสุกของลูกไม้ สาหร่าย ตะไคร้น้ำที่เกาะตามก้อนหิน ส่วนปลาที่กินเนื้อจะหากินปลาเล็ก ปลาน้อย แมลงต่างๆ ไส้เดือนตามสันดอน ริมฝั่งแม่น้ำ   ช่วงน้ำลดและเข้าฤดูหนาวประมาณเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายน ปลาที่เจริญเติบโตจะแพร่พันธุ์อยู่ในแม่น้ำอิง และในหนองน้ำต่างๆ บางส่วนจะอพยพกลับไปยังแม่น้ำโขง ดังนั้นระบบนิเวศที่หลากหลาย มีแหล่งอาหาร แหล่งแพร่พันธุ์ในป่าริมน้ำ หนองน้ำจึงมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตและการแพร่พันธุ์ของปลา ทำให้คนม่วงชุมมีอาหารจากทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลายเช่นกัน
          หนองน้ำบ้านม่วงชุมเป็นระบบนิเวศหนึ่งในพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสัมพันธ์กับแม่น้ำอิง และป่าริมน้ำ ในบ้านม่วงชุมมีทั้งหมด 4 หนองคือ หนองไก่ไห้ หนองป่าคา หนองต้นผึ้ง และหนองขอนแก่นซึ่งอยู่ในบริเวณป่าริมน้ำ ในหนองน้ำจะมีพันธุ์ปลาและสัตว์น้ำประเภทปลาดุก ปลาช่อน ปลาตะเพียน ปลาสร้อย ปลาตองดาว ปลาแปบ ปลาบอก ปลาค้าว ปลาเพี้ย ปลาหมอช้างเหยียบ ปลากราย หอยเสียบ หอยขม ปูยักษ์ เป็นต้น หน้าน้ำหลากห้ามจับปลาทุกชนิดก่อนที่จะเปิดให้ลงหนอง เพื่อให้ปลาเข้ามาวางไข่ และเจริญเติบโต หนองน้ำยามหน้าแล้งหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวตั้งแต่เดือนธันวาคมถึงเมษายน จะเปิดให้ลงหนองหาปลา ชาวบ้านเรียกว่า ตกหนอง บางหนองให้เฉพาะคนบ้านม่วงชุมลงหาปลา แต่บางหนองเปิดให้คนนอกหมู่บ้านเข้ามาหาปลา โดยเก็บบัตรตามลักษณะของเครื่องมือที่นำมา เช่น จ๋ำและ หิง 10 บาท ส่วนแห และแน่ง 20 บาท สุ่มจะไม่เก็บเงิน บ้านม่วงชุมมีรายได้จากการเปิดให้หาปลาในหนองประมาณปีละ 4,000 บาท เงินจำนวนนี้นำไปพัฒนาหมู่บ้านต่อไป หลังจากเปิดให้มีการลงหนองแล้ว ชาวบ้านสามารถหาปลาในหนองได้เรื่อยๆ จนกว่าน้ำจะหลากมาอีกครั้ง
          กลางเดือนมกราคม 2549 หมู่บ้านได้เปิดให้มีการลงหนองขอนแก่น หนึ่งในหนองน้ำบ้านม่วงชุมมีขนาด 6 ไร่ ที่ชาวบ้านเรียกว่าหนองขอนแก่นเพราะว่ามีขอนไม้แก่นขนาดใหญ่จมอยู่กลางหนอง ลักษณะคล้ายไม้มะขาม สันนิษฐานได้ว่าในอดีตมีต้นแก่นขึ้นในบริเวณหนอง และได้ตายซากอยู่กลางหนอง ทุกๆ ปีหมู่บ้านได้เปิดให้คนบ้านอื่นมาหาด้วย แต่ปีนี้ไม่ได้เปิดเพราะน้ำมีมาก อีกทั้งน้ำท่วม 2 ครั้ง ทำให้ปลาออกไปกับน้ำท่วมครั้งแรก
          การตกหนองถือเป็นวัฒนธรรมการหาปลาของคนลุ่มน้ำอิง ชาวบ้านทุกเพศทุกวัยทุกบ้านพากันหาปลาในหนองอย่างสนุกสนาน ผู้ชายใช้แห แน่งหาปลาบริเวณกลางหนองปลาที่ได้ค่อนข้างเป็นปลาขนาดใหญ่ เช่น ปลาค้าว ปลาช่อน ปลาหมอ ปลากด ส่วนผู้หญิงและเด็กใช้หิง และจ๋ำหาตามริมฝั่ง ปลาที่ได้เป็นปลาขนาดเล็ก เช่น ปลาสร้อย ปลาบอก ปลาแกดน้อย ปลาตะเพียน บางคนงมหอยขม หอยเสียบมาด้วยเพื่อนำไปทำเป็นอาหารที่บ้าน ใกล้เที่ยงแม่บ้านนำปลาที่ได้ซึ่งเป็นปลาขนาดเล็กมาปิ้ง โดยก่อไฟตามริมหนองไม้ไมยราบยักษ์ที่แห้งตามริมหนองในหน้าแล้งมีประโยชน์ตอนนี้เพราะเป็นเชื้อเพลิงอย่างดี และทำส้าปลาคือ พล่าปลาสดนั่นแหละ ปลาที่นำมาทำส้าจะเป็นปลาขนาดเล็กเช่น ปลาบอก ปลาสร้อย เอาหัวปลาและขี้ปลาออก หลังจากนั้นหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ นำเครื่องปรุงที่เตรียมมาจากบ้านคือ หัวหอม พริกป่น ข้าวคั่ว ต้นหอมผักชี เกลือคลุกเคล้าให้เข้ากันรับประทานกับข้าวเหนียว ส้าปลาสดๆ กินกับผักสดที่เก็บตามริมหนอง เช่น ผักกาดนา มะห่อย หรือมะระขี้นกถือเป็นอาหารกลางวันมื้อที่อร่อยมื้อหนึ่ง สิ่งที่ขาดไม่ได้คือ น้ำพริกแดงและผักกาดดอง
          พีระพล ปันอิน สมาชิกอบต.บ้านม่วงชุมก็ลงหนองเหมือนกัน เขากล่าวว่า ปลาปิ้งจะต้องกินกับน้ำพริก และผักดองเพราะเป็นของคู่กัน เหมือนกับอมเมี่ยง และสูบบุหรี่ ถือเป็นอาหารที่สุดยอดของคนม่วงชุม สุราพื้นบ้านแก้หนาวได้ดีนักหลังที่ขึ้นมาจากหนอง ควันไฟที่ลอยคุกรุ่นริมหนอง กลิ่นหอมของปลาปิ้งโชยมา สุราถูกนำมาแจกจ่าย เสียงพูดคุย หัวเราะตามกลุ่มต่างๆ แสดงให้เห็นถึงความสุขของชาวบ้านที่ได้มาพบปะกัน หาปลาร่วมกัน ได้ปลาก็มากินร่วมกัน หลังจากกินข้าวอิ่มหนำสำราญ บ่ายๆ พวกแม่บ้านบางคนก็กลับบ้านเพื่อนำปลาเล็ก ปลาน้อยไปทำปลาแห้ง ปลาร้า ปลาขนาดใหญ่นำไปขังไว้ที่บ้านเพื่อเป็นอาหารในวันต่อไป บางคนก็นำไปขายในหมู่บ้าน บางคนลงหนองหาปลากันต่อ โดยเฉพาะพวกผู้ชายมักจะทอดแหวง คือ การหาปลาเป็นกลุ่มประมาณ 5- 10 คนลงไปในหนองเป็นวง ไล่ปลาให้เข้ามาในวงและใช้แหทอด ปลาที่ได้จะเป็นของใครของมัน การทอดแหวงมักใช้เสียงเพื่อให้ปลาตกใจ จะได้ยินเสียงร้อง โหวกเหวก โห่เสียงดังมาจากกลางหนองเป็นระยะพร้อมๆ กับความดีใจที่ได้ปลาทำให้ชาวบ้านมีกำลังใจมากขึ้น แดดร่มลมตกพอได้ปลากันบ้างก็จะขึ้นจากหนองมานั่งปิ้งปลากัน เรื่องราววิถีชีวิต การทำมาหากิน สัพเพเหระถูกนำมาพูดคุยอย่างสนุกสนานและเป็นกันเอง กลางวงพูดคุย บุญผ่าน แสงศรีจันทร์ กรรมการกลุ่มอนุรักษ์คนหนึ่งของบ้านม่วงชุม พูดขึ้นมาว่า การนั่งกินปลาปิ้งในวันลงหนองถือว่าได้บรรยากาศ และมีความสุขมากที่สุดของคนหาปลา ไม่ว่าจะมีใครมาจ้างไปทำงานวันละ 200 ก็ไม่เอา วันนี้ถือเป็นอีกวันหนึ่งที่คนม่วงชุมมีความสุขจากการหาปลา บางคนนำปลาที่ได้มากินร่วมกันหมด ไม่เหลือกลับบ้านก็ไม่เป็นไร
 
ปลา ปู หอยในหนองน้ำบ้านม่วงชุม เป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นถึงความมั่นคงทางอาหารของคนในชุมชน เหล่านี้คือทุนทรัพยากรที่ธรรมชาติสร้างมาให้ หากเมื่อ 7 ปีที่แล้วมาคนม่วงชุมยังตัดไม้เผาถ่าน ยังหาปลาแบบทำลายล้างไม่มีความคิดที่จะอนุรักษ์ไว้ให้ลูกหลาน ในวันนี้คงจะไม่มีปลาในหนอง ไม่มีอาหารจากป่าให้หาอยู่หากิน ทุกวันนี้ชุมชนได้อนุรักษ์ป่าริมน้ำ 500 ไร่ มีเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลาในแม่น้ำอิง 300 เมตรที่ดูแลโดยคณะกรรมการร่วมกับคนในชุมชน มีกฎระเบียบที่เกิดจากความเห็นชอบของคนทั้งชุมชน ส่งผลให้ป่าฟื้นตัว มีปลาเพิ่มมากขึ้นในแม่น้ำอิงและหนองน้ำ ชุมชนมีอาหารจากธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ไม่ต้องไปหาซื้อจากที่ไหน เป็นการลดรายจ่ายในการซื้ออาหารจากตลาด ทั้งยังเพิ่มรายได้ให้กับครัวเรือนอีกทางหนึ่ง นอกจากนี้แล้วยังได้บริโภคอาหารท้องถิ่นตามธรรมชาติที่สดใหม่ ปลอดภัยจากสารเคมีอีกด้วย ปัจจุบันบ้านม่วงชุมถือเป็นพื้นที่ตัวอย่างในลุ่มน้ำอิงที่แสดงให้เห็นพลังของชุมชนในการดูแล รักษาแม่น้ำอิง หนองน้ำ และป่าริมน้ำที่เป็นของหน้าหมู่ หรือสมบัติของส่วนรวมควบคู่ไปกับการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน


 
18 มกราคม 2564